หลักการแสดงเบื้องต้น
การเคลื่อนไหวตามจินตนาการ

การเคลื่อนไหวเป็นองค์ประกอบพื้นฐานในการแสดงต่าง ๆ อย่างหนึ่งซึ่งสามารถใช้ในการสื่อความหมายต่าง ๆ ได้ โดยไม่ต้องอาศัยบทพูดบทเจรจานอกจากนี้ การเคลื่อนไหวยังช่วยให้เกิดความต่อเนื่องในบทบาทการแสดง ทำให้น่าติดตามและช่วยสร้างบุคลิกของตัวละครให้เด่นชัด รวมทั้งช่วยสร้างบรรยากาศการแสดงให้น่าชม
หลักการเคลื่อนไหวตามบทบาทการแสดง มีดังนี้
1. ต้องสอดคล้องกับบทละครและบุคลิกลักษณะของตัวละคร
2. ต้องมีการเปลี่ยนลักษณะท่าทางการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ไม่อยู่กับที่หรือแสดงท่าทางเดิมนานเกินไป
3. ต้องเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ ไม่ตะกุกตะกัก
4. ต้องเคลื่อนไหว และสื่อความหมายได้ชัดเจน
5. ต้องมีลีลาตามจังหวะดนตรีประกอบหรือบทบาทที่ได้รับ จะทำให้ผู้ชมเกิดอารมณ์คล้อยตาม
การใช้เสียงและภาษาในการแสดง
ในบทเจรจาหรือบทพูดของตัวละคร ควรคำนึงถึงการใช้เสียงและภาษา เพราะการพูดสามารถสื่อความหมาย ความคิด ความรู้สึกของตัวละครให้ผู้ชมรับรู้และเข้าใจได้ ผู้แสดงจึงควรใช้คุณสมบัติของเสียงให้เกิดประโยชน์ในการแสดง เช่น การใช้เสียงดัง-เบา เสียงสูง-ต่ำ เป็นต้น
1. การใช้เสียงในการแสดง
ผู้แสดงสามารถใช้เสียงในการแสดง โดยมีหลักกการ ดังนี้
1. การใช้เสียงจะต้องสอดคล้องกับจังหวะการเคลื่อนไหวของตัวละคร
2. จะต้องเปล่งเสียงให้ดัง ชัดเจน มีความมั่นใจ ไม่ตะกุกตะกัก
3. ใช้คำพูดให้ถูกอักขรวิธี ถ้าพูดผิดอาจทำให้เกิดความประหม่าได้
4. ใช้น้ำเสียงให้สอดคล้องกับคำพูดและอารมณ์ของตัวละคร
5. ต้องมีจังหวะในการพูด เพื่อแสดงอารมณ์ของตัวละคร เช่น อารมณ์เศร้าก็พูดช้า ๆ อารมณ์โกรธก็พูดเร็ว ๆ หรือพูดเสียงดัง เป็นต้น
2. การใช้ภาษาในการแสดง
การใช้ภาษาในการแสดง ผู้แสดงควรเลือกใช้ภาษาให้เหมาะสมกับบทบาทหน้าที่ของตัวละคร ซึ่งภาษาที่ใช้ในการแสดง แบ่งเป็น 3 ระดับ ดังนี้
1. ภาษาทางการ เป็นภาษาที่ใช้กับตัวละคร หรือสถานการณ์ที่เป็นทางการ เช่น หมอพูดกกับคนไข้ นักเรียนสนทนากับครู เป็นต้น
2. ภาษาไม่เป็นทางการ เป็นภาษาที่ใช้กับตัวละครหรือสถานการณ์ที่ไม่เป็นทางการ เป็นกันเอง เช่น นักเรียนคุยกับเพื่อน เป็นต้น
3. คำราชาศัพท์ เป็นภาษาที่ใช้กับตัวละครที่เป็นกษัตริย์และราชวงศ์หรือสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับคนที่เป็นกษัตริย์หรือราชวงศ์ เช่น พระราชาพูดกับอำมาตย์ เป็นต้น
3. การแสดงเป็นตัวละคร
ในการแสดงละคร ผู้แสดงมีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดเรื่องราวผ่านบทบาทของตัวละครที่ได้รับ ซึ่งผู้แสดงที่ดีนั้นจะต้องแสดงให้สมบทบาทและพยายามเรียนรู้รวมถึงพัฒนาการแสดงของตนอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการฝึกฝนการใช้เสียง การเคลื่อนไหวให้มีประสิทธิภาพ
การแสดงเป็นตัวละครที่ดีนั้น ควรฝึกปฏิบัติ ดังนี้
1. ศึกษาบทละครที่ได้รับ ให้รุ้และเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร มีเหตุการณ์และตัวละครอะไรบ้าง
2. ท่องจำบทพูด บทเจรจา ให้แม่นยำทั้งคำพูดและจังหวะในการพูด
3. ศึกษาตัวละครที่ตนเองได้แสดงว่า มีบุคลิกนิสัย บทบาทหน้าที่อะไรในเรื่อง เพื่อจะได้แสดงให้สมบทบาท
4. มีการซ้อมก่อนการแสดงจิรง เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง ไม่เกิดการผิดพลาดเมื่อแสดงจริง
5. การแสดงละคร ควรให้เกียรติและให้ความร่วมมือกับนักแสดงคนอื่น ๆ เช่น ร่วมฝึกซ้อมการแสดงร่วมกับผู้อื่น
ที่มา : เอกรินทร์ สีมหาศาล และคณะ. ศิลปะ ป.3. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์.
รูปภาพ : Kadperforming Arts